ระบบบำบัดอากาศกำจัดสารปนเปื้อนที่มี ไอกรด ไอสารเคมี ในกระบวนการผลิต
ระบบบำบัดอากาศเสีย ระบบสามารถควบคุมได้ทั้งเรื่องของฝุ่น ควัน กลิ่น ไอกรดและไอสารเคมี
1. ระบบบำบัดอากาศเสียแบบเปียก (Wet Scrubber System) อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับกำจัดก๊าซและไอกรด/ไอสารเคมี โดยอาศัยหลักการทำงานแบบสัมผัสกันระหว่างอากาศเสียกับของเหลว ซึ่งก็คือ น้ำ หรือสารละลายเคมี เริ่มจากอากาศเสียจะถูกดูดเข้าระบบแล้วผ่านชั้นตัวกลางคือแพ็คกิ้งมีเดีย ที่ทำหน้าที่เพิ่มพื้นที่ผิวสัมผัสระหว่างอากาศเสียกับน้ำ ด้วยการฉีดพ่นละอองน้ำแล้วกระจายไปปะทะกับอากาศเสียดังกล่าว ทำให้มวลสารที่เป็นสารปนเปื้อนต่างๆ จะถูกดับจับด้วยของเหลวไม่สามารถหลุดไปสู่บรรยากาศได้ ส่วนอากาศที่ผ่านการบำบัดแล้ว จะถูกส่งไปยังปล่องอากาศเพื่อปล่อยสู่บรรยากาศต่อไป
2. ระบบบำบัดอากาศเสียด้วยถ่านกัมมันต์ (Activated Carbon System) ระบบบำบัดอากาศด้วยถ่านกัมมันต์ เป็นการใช้หลักการการดูดซับ (Absorbtion) ของถ่านกัมมันต์ ในการแยกก๊าซเสียหรือไอระเหยสารอินทรีย์ที่ปนเปื้อนออกจากอากาศ โดยมีกระบวนการที่โมเลกุลของก๊าซเสียจะถูกแยกออกจากอากาศโดยการดูดซับไว้ที่ผิวของถ่านกัมมันต์ที่มีผิวเป็นรูพรุน โมเลกุลของก๊าซที่ถูกดูดซับ เรียกว่า Absorbate ในขณะที่ของแข็งที่ใช้ดูดซับ เรียกว่า Absorbent ซึ่งโดยทั่วไปตัวดูดซับถ่านกัมมันต์นี้ จะดูดซับไอระเหยของสารที่มีน้ำหนักโมเลกุลมากกว่า 45 ได้ดี ถ่านกัมมันต์ (Activated Carbon) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำวัตถุดิบธรรมชาติหรืออินทรียวัตถุ ที่มีคาร์บอนและไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบหลัก มาผ่านกรรมวิธีก่อกัมมันต์ (Activation Process) จนได้ผลิตภัณฑ์ที่มีสีดำ เป็นโครงสร้างที่มีลักษณะเป็นรูพรุน มีพื้นที่ผิวสูง มีคุณสมบัติในการดูดซับสารต่างๆ ได้สูง
3. ระบบบำบัดอากาศเสียด้วยกระบวนการทางชีวภาพ (Bio Scrubber System) ไบโอสครับเบอร์ (Bio Scrubber System) เป็นระบบบำบัดอากาศเสียด้วยกระบวนการทางชีวภาพ ที่สามารถกำจัดสารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compound ; VOC) สามารถบำบัดกลิ่นจากระบบน้ำเสียหรือกลิ่นที่มีความเข้มข้นสูง เช่น ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) โดยใช้กระบวนการย่อยสลายทางชีวภาพด้วยจุลินทรีย์ ทำให้อากาศไม่กลายเป็นมลพิษอีกต่อไป ระบบการทำงานของไบโอสครับเบอร์ Bio Scrubber จะประกอบด้วยตัวกลางเทียมหรือแพ็คกิ้งมีเดีย ซึ่งตัวกลางเทียมนี้จะมีหน้าที่เหมือนกับตัวกลางใน Wet Scrubber คือใช้เพื่อให้เกิดพื้นที่ผิวไว้สำหรับให้เกิดการเกาะสะสมของจุลินทรีย์ เมื่ออากาศที่มีสารปนเปื้อนไหลขึ้นจากด้านล่างของถัง ผ่านขึ้นมายังชั้นตัวกลางเทียมจะถูกน้ำที่มีจุลินทรีย์ดูดซับบริเวณหอสเปรย์ (Spray Tower) แล้วจะไหลลงมาที่ด้านล่างของระบบ เหลือแต่อากาศที่ดีปล่อยออกสู่ภายนอก ในส่วนของน้ำที่มีส่วนผสมของจุลินทรีย์และสารปนเปื้อนที่ถูกดูดซับจะถูกส่งไปยังถังพัก และเกิดการย่อยสลายทางชีวภาพขึ้นที่ถังพัก หลังจากนั้น น้ำจากกระบวนการย่อยสลายจากถังพักจะถูกนำไปใช้อีกครั้ง ดังนั้นจะเหลือน้ำทิ้งในปริมาณน้อยที่ถูกปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม